วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์ “กิจการ”
ด้านการตลาดของบริษัท
   ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระยะยาว 
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา  เพราะถ้าวิเคราะห์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม  เราก็จะรู้ว่าบริษัทไหนจะรุ่งและบริษัทไหนจะร่วง
กฏของสงคราม
1.ฝ่ายที่มีทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ  ในสงครามทุกครั้ง กองทัพที่มีไพร่พลมากกว่าย่อมเป็นผู้ชนะ  อย่าไปพูดถึงเรื่องของคุณภาพของคน ในสงครามการตลาดนั้น  บริษัทที่ใหญ่กว่ามาก  มีงบโฆษณามหาศาล  มีพนักงานการตลาดมากกว่าคู่แข่งหลายเท่า  รบอย่างไร  บริษัทใหญ่ก็ชนะทุกที ดังนั้น  เป็นการยากที่บริษัทเล็กจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่  แน่นอน  ในบางช่วงบางตอน  เราอาจจะเห็นบริษัทเล็กได้ชัยชนะในระยะสั้น ๆ  แต่จะให้ได้ชัยชนะขนาดเข้าไปแทนที่บริษัทใหญ่นั้น  เป็นเรื่องที่ยากมาก ในเรื่องการตลาด  ต่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นจะ “ดีเลิศ” กว่าของคู่แข่งแค่ไหน  แต่มันเป็นรายเล็ก  มีทรัพยากรน้อย  สุดท้ายก็ไปไม่รอด  ผู้บริโภคเองก็อาจจะคิดว่า  “ถ้าดีจริงก็คงจะใหญ่โตไปแล้ว”  ดังนั้น  เขาก็อาจจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ “ดีเลิศ” นั้น
2.ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่รุกรบ ในสงครามการตลาดเองนั้น  ผู้นำที่ยึด “ชัยภูมิ” การตลาดที่โดดเด่นเอาไว้ได้แล้ว  ก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมหาศาล ต่อให้คู่แข่งจะพยายาม “โจมตี”  อย่างไร  ก็ยากที่จะเอาชนะได้  เพราะคู่แข่งจะต้องใช้ทรัพยากรเป็นสามเท่า
3.ศึกษา “ชัยภูมิ”  ของข้าศึกแล้วเราก็จะรู้ถึงการวางแผนรวมทั้งอุปนิสัยของเขา  จากนั้นเราก็สามารถตอบโต้ได้ตามความเหมาะสม  ชัยภูมิของการสงครามนั้นก็จะเป็นภูเขา แม่น้ำ หรือภูมิประเทศทางกายภาพอื่น ๆ   แต่ชัยภูมิทางการตลาดนั้น  ไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านหรือเค้าน์เตอร์ขายสินค้า  แต่อยู่ในสมองหรือจิตใจของผู้บริโภคที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน   สงครามการตลาดเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมอง   ภูเขาของรถยนต์ที่เน้นการใช้งานอาจจะเป็นโตโยต้า  ภูเขาของชาเขียวอาจจะเป็นโออิชิ นั่นคือ  ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ  “จอง” หรือยึดชัยภูมิสำคัญในสมองของผู้บริโภคไว้แล้ว  ยากที่คู่แข่งจะเข้าตีได้ง่าย  ดังนั้น  เวลาเราวิเคราะห์การตลาดของบริษัท  เราจะต้องรู้ว่าใครอยู่ใน “ชัยภูมิ” ใด  ประเด็นสำคัญก็คือ  เราอยากได้บริษัทที่อยู่ในชัยภูมิที่ดีเลิศ  เช่น “เป็นภูผาที่สูงชันและล้อมรอบด้วยน้ำ”  เราไม่อยากได้บริษัทที่อยู่ใน  “หุบเขาที่เปิดโล่งและล้อมด้วยป่าทึบ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น