การชนะประมูลนั้น ไม่ได้แปลว่าบริษัทจะต้องมีกำไรเพิ่มในอนาคต การชนะการประมูลนั้นหมายความเพียงว่าบริษัทจะมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น มีธุรกิจมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะต้องมีกำไรเพิ่มขึ้น หรือบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นคุ้มค่ากับเงินที่จะต้องลงทุนเพิ่ม ไม่มีใครบอกว่า การ “ชนะ” การประมูลหรือแข่งขันดังกล่าวเป็นสิ่งที่เลวร้ายและจะทำให้บริษัทขาดทุนหรือจะเป็น “หายนะ” ของบริษัทในอนาคต เหนือสิ่งอื่นใด การที่ “หุ้นวิ่ง” ขึ้นไปทันทีนั้น จะให้อธิบายได้อย่างไรว่าบริษัทกำลังจะเผชิญกับ “ภัยพิบัติ” จากการชนะประมูล?
การที่บริษัทชนะประมูลหรือชนะในการซื้อกิจการแข่งกับคนอื่นนั้น ผมไม่ได้ถือว่ามันเป็นข่าวดีเสมอไป ว่าที่จริงหลายครั้งผมคิดว่ามันเป็น “ข่าวร้าย” ของบริษัท เพราะ “ราคา” ที่บริษัทเสนอที่จะจ่ายให้กับผู้ให้ใบอนุญาติหรือผู้จ้างหรือผู้ขายนั้น “แพงเกินไป” และถ้าเป็นอย่างนั้น การ “ชนะ” และทำให้รายได้ของบริษัทในอนาคตเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่กลับเป็นโทษเพราะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทลดลง หรือในบางครั้งทำให้บริษัทขาดทุนและกลายเป็นหายนะได้ ปรากฏการณ์ที่บริษัท “ชนะ” แต่กลับ “พ่ายแพ้” และเสียหายในภายหลังเนื่องจากการ “จ่าย” หรือ “ต้นทุน” ที่แพงเกินไปนี้เรียกกันว่า “Winner’s Curse” หรือ “คำสาปของผู้ชนะ
ลักษณะของ ผู้ชนะที่จะ “ถูกสาป” นั้น มักเกิดขึ้นกับกิจการที่เปิดขายหรือเปิดประมูลดังนี้
1.กิจการที่มีจำนวนจำกัดแต่มีคนต้องการมาก
2.กิจการมีความไม่แน่นอนในอนาคตสูงซึ่งทำให้การประเมินผลการดำเนินงานทำได้ยากและไม่แน่นอน
3.ถ้าการขายเป็นดีลที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและผู้ขายกับผู้ซื้อไม่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง
4.ความ “อยากได้” ของผู้ซื้อหรือผู้เข้าประมูลมีมากเนื่องจากเหตุผลบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจล้วน ๆ มีสูงกว่าปกติ
“ชนะ” ประมูลหรือชนะในการซื้อกิจการนั้น เป็น “ข่าวดี” ที่สำคัญของหุ้นในตลาด ดังนั้น หลายบริษัทโดยเฉพาะที่ผู้บริหาร “เล่น” หุ้นของตนเองด้วยจึงมักมีความโน้มเอียงที่จะเอาชนะในการประมูลหรือซื้อกิจการ เพราะนั่นหมายความว่าหุ้นจะขึ้นและเขาอาจจะได้ประโยชน์ในระยะเวลาอันสั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น