วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

 สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น
ปัจจัยที่  “ไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน”  ของกิจการ
ข้อมูลสำคัญสุดยอดที่จะบอกว่าราคาหุ้นจะไปทางไหนในอนาคตอันใกล้
-------------------------------------------------------------------
สภาพคล่องของหุ้นนั้นมองได้เป็นสองมิตินั่นคือ
1.มองจากนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นหรือพูดง่าย ๆ  มองจากตัวเราเองว่าเรามีเงินลงทุนเท่าไรและจะซื้อหุ้นแต่ละตัวในวงเงินเท่าไร  ตัวอย่างเช่น  พอร์ตของเรามีอยู่ 10 ล้านบาท  และเราจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 2-3 ล้านบาท  แบบนี้  เราก็จะต้องดูว่าหุ้นที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณเท่าไร   ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายประมาณวันละเพียง หนึ่งแสนบาท  นั่นก็แปลว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาในการขายหุ้นให้หมดถึง 20-30 วัน  ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้น 2-3 ล้านบาท  และสมมุติว่าไม่มีคนอื่นขายเลยนอกจากเรา  ในสถานการณ์แบบนี้  ก็ต้องถือว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำเกินไป   การซื้อหุ้นอาจจะอันตรายถ้าเราคาดการณ์ผิดและจำเป็นต้องขายทิ้ง   เพราะในการขายหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันจะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง   ดังนั้น   การซื้อหุ้นแบบนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่ามากและเราพร้อมที่จะถือมันไว้ตลอดไป  หรืออย่างน้อยก็ต้องถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป  นอกจากนั้น  ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่  มันควรจะมีปันผลให้เราอย่างน้อย 4-5% ต่อปีโดยไม่ลดลงและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


2.ปริมาณการซื้อขายของหุ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท  นี่เป็นการวัดอย่างคร่าว ๆ  ว่าคนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น  ซื้อแล้วถือไว้นานแค่ไหนโดยเฉลี่ย  ตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทหรือเรียกว่า  Market Cap. เท่ากับ  1,000 ล้านบาท  และหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท  นี่ก็แปลว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นของบริษัทไว้นั้น  เขาจะทยอยขายหุ้นและใช้เวลาขายหมดภายใน 100 วัน  หรือประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ    หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ  คนที่ลงทุนในบริษัทนี้  โดยเฉลี่ยแล้วลงทุนเพียง 3 เดือนเศษ ๆ  ก็ขายทิ้งแล้ว  ไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นที่ผลประกอบการและรอกินปันผลที่บริษัทอาจจะจ่ายปีละครั้ง


ประเด็นของการถือหุ้นสั้นหรือถือหุ้นยาวของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัวก็คือ   มันเป็นการบอกถึง  “ดีกรี”  หรืออัตราในการ  “เก็งกำไร”  ของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว   นั่นก็คือ  หุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก  วัดจากปริมาณการซื้อขายต่อวันเทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท  เช่น  หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายต่อวันเท่ากับ  100 ล้านบาท  ในขณะที่  Market Cap. เท่ากับ  1,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนเพียง 10 วันโดยเฉลี่ยก็ขายทิ้งแล้ว  แบบนี้ก็ถือว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง  ตรงกันข้าม  หุ้นบางตัวนั้น  ผู้ถือหุ้นถือไว้โดยเฉลี่ยถึง 3 ปี  แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีการเก็งกำไรหรืออาจจะบอกว่าเป็นหุ้นที่คนไม่สนใจที่จะซื้อขายเนื่องด้วยเหตุผลต่าง ๆ


ผมเอง  กำหนดว่า  หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายเป็น  “หุ้นเก็งกำไร”  ยิ่งมากกว่านั้นก็ยิ่งมีการเก็งกำไรสูงเท่านั้น  และยิ่งหุ้นมีการเก็งกำไรสูงเท่าไร  ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น  ดังนั้น  โอกาสที่หุ้นเก็งกำไรสูงจะเป็นหุ้น Value จึงมีน้อย  ผมจึงมักหลีกเลี่ยงและถ้ามีก็จะขายทิ้ง   หุ้นที่เข้าข่ายเก็งกำไรสูงลิ่วกลุ่มหนึ่งก็คือ  หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายหุ้นใหม่ในตลาดหลังจากการทำ IPO  ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงมาก  ดังนั้น  ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน  และถ้าผมได้จองซื้อหุ้นไว้ผมก็มักจะขายทิ้งค่อนข้างเร็ว  ถ้าผมสนใจหุ้นเหล่านี้  ผมจะรอจนปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลงจนต่ำกว่า 1%  ต่อวันซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าหุ้นไม่มีการเก็งกำไรมากจนเกินไป
---------------------------------------------------

Premiums

1. “Super Stock Premium”
“มูลค่าส่วนเกิน”  ที่ตลาดให้กับหุ้นที่เป็น  Super Stock  หรือเป็นหุ้นของกิจการที่มีคุณภาพ  “ดีสุดยอด”  ซึ่งอาจจะหมายถึงกิจการที่มีคุณสมบัติหลาย ๆ  อย่างดังเช่น  เป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก  มีอำนาจทางการตลาดสูงมากเพราะลูกค้าไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งได้ง่าย  มียี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งมาก  สินค้าไม่ถูกควบคุมด้วยราคาหรือกฎเกณฑ์อื่น ๆ  มีกำไรหรือมาร์จินจากยอดขายสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน  การขายสินค้าหรือบริการเพิ่มไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก   กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงลิ่ว  ธุรกิจยังมีการเติบโตที่ดีหรือเป็นกิจการแห่งอนาคต  ต่าง  ๆ  เหล่านี้

ราคาของหุ้นจะสูงจนทำให้ค่า  PE  และค่า  PB  สูงมากจนบางครั้งนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  VI สไตล์ เบน เกรแฮม  ซึ่งเน้นการซื้อหุ้นราคาถูก  “รับไม่ได้”   เพราะเมื่อเขาคำนวณหา  “มูลค่าพื้นฐาน”  ของหุ้นที่เป็นตัวเลขแล้ว  เขาจะพบว่าดูอย่างไรก็  “Over Value”  อยู่ดี

2.“Speculation  Premium”
ราคาหุ้น  “ส่วนที่เกินพื้นฐาน”  ที่เกิดขึ้นเนื่องจากหุ้นตัวนั้นมี  “การเก็งกำไร”  สูงมากกว่าปกติ  เหตุผลที่ตลาดให้ราคาหุ้นเก็งกำไรสูงกว่าปกติ  เป็นเพราะว่านักเล่นหุ้นจำนวนมากในตลาดหุ้นไทยชอบเล่นหุ้นที่มีราคาหวือหวาขึ้นลงเร็วมากกว่าหุ้นที่ค่อย ๆ  เติบโตไปเรื่อย ๆ   พวกเขายินดีที่จะจ่าย  “Premium”  ซึ่งก็คงจะคล้าย ๆ  กับ  “ค่าต๋ง”  ในการเล่นการพนันให้กับนายบ่อนเวลาเล่นการพนัน    Premium ที่พวกเขาจ่ายก็เป็นคล้าย ๆ  กับ  “ค่าธรรมเนียม”  ในการที่จะได้เล่นหุ้นที่ขึ้นลงเร็วและมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมหาศาลที่ทำให้เขาสามารถที่จะเข้าหรือออกได้ตลอดเวลารวมทั้งสามารถใช้มาร์จินในการซื้อขายหุ้นได้เต็มที่  อย่างไรก็ตาม  Speculation Premium นั้น  มักจะอยู่ไม่ถาวร  เมื่อการเก็งกำไรลดลง  ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่  ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงมาใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาด  Speculation Premium  ของหุ้นก็อาจจะหายไปได้

3.“Institution Premium”  
นี่คือการที่หุ้นมีราคาเกินจากพื้นฐานเนื่องจากการที่หุ้นตัวนั้น   ที่แต่เดิมไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบัน  กลายเป็นหุ้นที่สถาบันการลงทุนสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นลงทุนด้วยเหตุผลบางอย่างเช่น  บริษัทได้รับการจัดอันดับให้เข้าไปอยู่ในดัชนีเช่น  MSCI  SET50  SET100  หรือกิจการมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการควบรวมหรือการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเข้าเกณฑ์ที่สถาบันลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท  ผลกระทบจากการนี้ทำให้หุ้นมักมีการปรับตัวขึ้นไปแรงโดยเฉพาะในครั้งแรก

4. “Owner Premium”  
หรือราคาหุ้นที่สูงเกินจากพื้นฐานปกติเนื่องจาก  “มีคนยอมจ่ายเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ”  พูดแบบนี้อาจจะทำให้งงเพราะหุ้นทุกตัวก็มีผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว  แต่ความหมายของผมก็คือ  หุ้นนั้นเดิมไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่พอที่จะควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จ   แล้วอยู่ ๆ  ก็มีคนอื่นเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมากเพื่อให้ได้สิทธิที่จะควบคุมบริษัทแทนผู้บริหารเดิม  คนที่เข้ามาเพื่อที่จะเทคโอเวอร์บริษัทนั้น  เขายอมจ่ายแพงกว่าปกติได้เพราะเขาคิดว่าเขาสามารถปรับปรุงพื้นฐานของบริษัทให้ดีขึ้นได้ซึ่งทำให้คุ้มค่าที่จะจ่าย  หรือบางคนก็อาจจะคิดว่าการเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัทอาจจะทำให้เขาได้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นการส่วนตัว  เช่น  สามารถ “เล่นหุ้น” ตัวนั้นให้ได้กำไร   หรือสามารถ  “กินเงินเดือน”  หรือรับประโยชน์อย่างอื่นในบริษัทในฐานะผู้บริหาร  ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเทคโอเวอร์บริษัทนั้น   อย่างไรก็ตาม  ในฐานะคนนอกที่เป็นนักลงทุน   เราก็ต้องระวังว่า  Premium ในส่วนนี้อาจจะหายไปได้ง่าย ๆ  เมื่อการเทคโอเวอร์จบลง

5.“Celebrity Premium”  
นี่เป็นคำที่ผมเรียกเองซึ่งอาจจะไม่ตรงนักแต่ความหมายของผมก็คือ  หุ้นมีราคาสูงเกินจากพื้นฐานไปเนื่องจากการที่หุ้นตัวนั้นถูกซื้อโดย  “เซียน”  ที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นเชื่อถือมาก  ทำให้นักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนคนอื่นแห่เข้าซื้อตาม   ผลก็คือ  ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว   ตัวอย่างเช่น  บ่อยครั้งที่มีข่าวว่า วอเร็น บัฟเฟตต์  เข้าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง  ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วและผมเชื่อว่าหลายครั้งราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐาน   ส่วนตัวอย่างที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยนั้น  ในอดีตช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กกว่านี้และเรามีแต่  “นักเล่นหุ้น”  ถ้ามีข่าวว่า  “เสี่ย”  คนนั้นคนนี้เข้าไปเล่นหุ้นตัวไหน  หุ้นตัวนั้นก็จะวิ่งไปแรงและเร็วมาก  แต่ถ้าเป็นในช่วงที่  Value Investment กลายเป็น “กระแสหลัก”  อย่างหนึ่งในปัจจุบัน  ถ้ามีข่าวว่ามี  “เซียน  VI”  เข้าไปเล่นกันมาก  หุ้นตัวนั้นก็วิ่งไปแรงเกินกว่าพื้นฐานได้เหมือนกัน

การมองหาหุ้นที่มีศักยภาพสูงที่จะได้รับ  Premium  ในอนาคตเนื่องจากหุ้นหรือบริษัทกำลังมีพัฒนาการที่จะนำไปสู่การเป็นหุ้นที่จะมี  Premium  เช่น  บริษัทมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย ๆ  และเราคาดว่าในที่สุดบริษัทก็จะกลายเป็น  Super Stock  หรือ  เรามองว่าในไม่ช้าบริษัทก็จะได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่นักลงทุนสถาบันจะเข้ามาลงทุน  หรือ  เราเห็นว่าบริษัทจะเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ที่จะเกิดขึ้น  ต่าง  ๆ   เหล่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น