วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่ทำให้บริษัทจะเป็น Take Over Target
1. โครงสร้างของผู้ถือหุ้น บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นกระจัดกระจายและไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดมีหุ้นไม่ถึง 5 หรือ 10% และไม่มีหุ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ บริษัทแบบนี้ในทางทฤษฏีแล้วก็สามารถเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ได้ และนี่มักจะเป็นการเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร นี่คือโครงสร้างแบบที่หนึ่ง (หุ้น TTA )
โครงสร้างแบบที่สองที่อาจทำให้บริษัทถูกเทคโอเวอร์ก็คือ บริษัทเป็น “บริษัทลูก” หรือ “บริษัทร่วม” ของบริษัทขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก ถ้าบริษัทแม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือ “ปรับโครงสร้าง” กลุ่มธุรกิจของบริษัท ก็มีโอกาสที่บริษัทแม่จะซื้อหรือขายกิจการบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมเข้ามาหรือออกไป ลักษณะนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเทคโอเวอร์แบบเป็นมิตร (ปตท.+หุ้นเสริมสุข)
2.เงื่อนไขที่สอง หุ้นที่เป็นเป้าหมายการถูกเทคโอเวอร์โดยเฉพาะในแบบที่ไม่เป็นมิตรและไม่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจนั้น มักจะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำ หรือตกต่ำลงมาก และต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็นหรือต่ำกว่ามูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินทรัพย์ที่เป็นเงินสดของบริษัท และเหตุผลที่หุ้นมีราคาตกต่ำนั้น เป็นเพราะการบริหารงานที่ไม่ดีหรือบริษัทมีนโยบายที่ไม่เหมาะสมทำให้กิจการมีกำไรน้อยหรือขาดทุน ส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงหรือตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน โดยที่ผู้ที่จะมาเทคโอเวอร์มองว่า ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือกลยุทธ์ของบริษัท ผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นมาก
3. การที่ผู้บริหารสูงสุดมักเป็น “นักบริหารมืออาชีพ” พูดง่าย ๆ ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้น การดูแลผู้ถือหุ้นจึงมักเป็นเป้าหมายรอง เพราะการที่ราคาหุ้นจะตกหรือขึ้นผู้บริหารก็ไม่ใคร่จะได้อะไร แต่การที่ขยายงานให้บริษัทใหญ่ขึ้นหรือการที่บริษัทมีเงินสดมาก ๆ นั้น ผู้บริหารก็มักจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือมีความมั่นใจว่าบริษัทจะไม่มีปัญหาในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง ดังนั้นจึงสร้างเงื่อนไขของการเทคโอเวอร์ขึ้น
4.ในเรื่องเชิงเศรษฐศาสตร์และอาจจะเรื่องของตลาดหุ้นด้วย นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำให้การรวมกิจการเป็นหนทางที่สำคัญในการ “อยู่รอด” หรือ “รุ่งเรือง” ของบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มี Economy of Scale หรือไม่มีความคุ้มค่าในการแข่งขันเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่หรือมีขนาดที่เหมาะสมกว่า ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นธุรกิจอย่างโรงพยาบาลที่มีความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แม้ว่าเหตุผลอาจจะเป็นเรื่องของการตอบสนองของราคาหุ้นมากกว่าเหตุผลเชิงเศรษฐกิจหรือต้นทุนการดำเนินงาน หรืออย่างที่เราอาจจะได้เห็นในอนาคตก็อาจจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์หลังจากการเปิดเสรีในเร็ว ๆ นี้ที่บริษัทเล็ก ๆ อาจจะอยู่ได้ยากเป็นต้น
---------------------------------------------------------------------

ข้อมูลที่ลำเอียง


หลักการสำคัญก็คือ  ดูว่าคนให้ข้อมูล “รู้จริง” หรือมีข้อมูลจริงไหม  นอกจากนั้น  สิ่งที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือ  คนที่ให้ข้อมูลมี “แรงจูงใจ” อะไรในการที่ให้ข้อมูลนั้น


ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประเมินว่าผู้บริหารพูด  “เว่อร์”  หรือลำเอียงมากไปแค่ไหน  เหตุผลเพราะเราไม่ได้อยู่ในธุรกิจหรือเราไม่สามารถหาข้อมูลได้มากพอที่จะตัดสิน  นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนบางคนใช้วิธีดูผลงานที่ผ่านมาเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารเคยพูดไว้ว่าตรงหรือใกล้เคียงไหม  ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่พอใช้ได้


วิธีที่น่าจะดีกว่าก็คือ  ผมจะมองไปถึง “โครงสร้างของอุตสาหกรรม”  ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร  ปัจจัยในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร  บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหน?  ได้เปรียบหรือเสียเปรียบคู่แข่งขันอื่นและการได้เปรียบนั้นเป็นการได้เปรียบชั่วคราวหรือถาวร  สุดท้ายยังต้องดูอีกว่าในอนาคต 3-4 ปีขึ้นไป  จะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ  มาแข่งขันด้วยหรือไม่  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวบอกว่า  “คำคุย”  ของผู้บริหารจะเป็นจริงหรือไม่  พูดง่าย ๆ  ในการวิเคราะห์ว่าผู้บริหารลำเอียงไปมากน้อยแค่ไหน  ผมจะพยายามตัดประเด็นเรื่องฝีมือของผู้บริหารออก  แล้วมาดูในด้านของตัวอุตสาหกรรมและตำแหน่งของบริษัทในอุตสาหกรรมเป็นหลัก  ถ้าตำแหน่งของบริษัทแย่หรือเสียเปรียบ  แต่ผู้บริหารบอกว่าบริษัทของตนจะเอาชนะและแย่งชิงธุรกิจได้มากกว่าคู่แข่งมากด้วยเพราะฝีมือของผู้บริหารหรือพนักงาน  ผมก็จะไม่มั่นใจเลยว่าเขาจะทำได้


เราต้องพยายาม “ฉีก”  ตนเองออกจาก “ตลาด”  ความหมายก็คือ  เราต้องเข้าใจเรื่อง “ความลำเอียง” ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากเหตุจูงใจต่าง ๆ  และธรรมชาติบางอย่างของคนโดยเฉพาะที่อยู่ในตลาดหุ้น  การอ่านหรือฟังข้อมูลนั้น  เราต้องรู้  “เบื้องหลัง”  หรือ  “วาระซ่อนเร้น”  ที่อาจจะมีอยู่  เพื่อที่ว่าเราจะได้นำข้อมูลที่ได้รับมา “ปรับ”  ให้ถูกต้องใกล้เคียงขึ้น  การรับข้อมูลโดยไม่พิจารณาเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง  เพราะบางครั้งมันอาจจะหมายถึงการที่เราถูก  “หลอก”  ให้สำคัญผิดใน  “พื้นฐาน”  ของบริษัท  ซึ่งทำให้การตัดสินใจของเราผิดพลาดและเกิดความเสียหายร้ายแรงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น